KBV School

โรงเรียนครบุรีวิทยา สพป. นม. 3

ประวัติโรงเรียน

        การก่อสร้างโรงเรียนครบุรีวิทยานี้ ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2499  โดย    นายวัฒนะ  รัตนสิเศษ ศึกษาธิการอำเภอครบุรี  เสนอเรื่องขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา  เพื่อความสะดวกแก่นักเรียนในอำเภอครบุรี  ที่เรียนจบชั้นประถมบริบูรณ์จะได้ศึกษาต่อ เพราะในปีหนึ่งๆ มีนักเรียนเข้าเรียนต่อในตัวจังหวัดเป็นจำนวนมาก  ซึ่งเป็นการลำบากด้วยประการทั้งปวง จึงได้ขออนุญาตให้เปิดโรงเรียนนี้ขึ้นตามหนังสือจังหวัดนครราชสีมาที่ 5882/2499 ลงวันที่ 8 เมษายน 2499 แต่อาคารเรียนยังไม่มี  จึงได้อาศัยที่โรงเรียนบ้านแชะ โดยเปิดทำการสอนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 ก่อน  มีนักเรียนจำนวน 40 คน  และทางการได้มอบให้  นายสกนธนิตย์  เปี่ยมพิมาย ครูใหญ่โรงเรียนบ้านแชะเข้าประจำทำการสอน

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2500 ทางราชการได้แต่งตั้งนายช่วง  อินทรรักษ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเหมืองตะโก  มาดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนครูใหญ่โรงเรียนนี้ตามหนังสือจังหวัด นครราชสีมา ที่ 17992/2499 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2500 และทางราชการได้อนุมัติเงิน กศส.(การศึกษาและสาธรณสุข) ตามหนังสือจังหวัดนครราชสีมา ที่ 17992/2499 ลงวันที่ 24 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2499  จำนวน 40,000 บาท แบ่งเป็น 3 ห้องเรียน ขนาดห้องเรียน 7 x 9 เมตร ปลูกขึ้นในที่ดินของโรงเรียนซึ่งทางราชการได้สงวนไว้ บริเวณบ้านใหม่ หมู่ 4 อำเภอ ครบุรี          จังหวัดนครราชสีมา 

 มีอาณาเขตดังนี้
 ทิศเหนือ                                  จดถนนโทรศัพท์                                               ยาว  4  เส้น  6  วา
  ทิศใต้                                       จดถนนบุรีราษฎร์                                              ยาว  4  เส้น  6  วา
  ทิศตะวันออก                        จดถนนสมพงษ์การพิมพ์                               ยาว  2  เส้น  6  วา
 ทิศตะวันตก                            จดถนนบุรีราษฎร์                                             ยาว  2  เส้น  13  วา  3  ศอก

คิดเป็นพื้นที่    12  ไร่  1   งาน  38  ตารางวา     ขณะที่กำลังทำการก่อสร้างอาคารเรียนอยู่นั้นสถานที่เรียนของโรงเรียนบ้านแชะคับแคบมาก  จึงได้ไปอาศัยศาลาการเปรียญวัดสมุทรการ(แชะ) เป็นสถานที่เรียนหนังสือชั่วคราวจนกว่าจะก่อสร้างอาคารเรียนให้แล้วเสร็จ  และตั้งชื่อให้โรงเรียนว่าโรงเรียนครบุรี (มัธยมศึกษา) เครื่องหมายประจำโรงเรียน คือ นม.19 ในขณะนั้นมีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น  80  คน วันที่  1  มิถุนายน  พ.ศ. 2503  ทางราชการได้สั่งให้ นายช่วง  เจริญครบุรี  ครูใหญ่โรงเรียนบ้านดอนแสนสุข  มาดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนครูใหญ่

ในปี พ.ศ. 2504  ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาจากมัธยมศึกษาปีที่  1         มาเป็นประถามศึกษาปีที่  5  ดังนั้นในปีการศึกษานี้  ทางโรงเรียนได้ทำการเปิดสอนนักเรียนดังนี้  ชั้นประถามศึกษาปีที่  5  จำนวน  1  ห้องเรียน  และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 , 2 ชั้นละ 1 ห้องเรียน และทางราชการได้ย้ายนายช่วง  เจริญครบุรี  ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนครบุรีธรรมโฆสิตวิทยาคาร

ในปี พ.ศ. 2521  ทางราชการได้เริ่มใช้หลักสูตรพุทธศักราช  2521  ทั่วประเทศ ดังนั้นทางโรงเรียนจึงได้เปิดทำการสอนดังนี้  ชั้นประถมศึกษาปีที่  1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6  และชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 เป็นปีสุดท้าย  สำหรับปีการศึกษา  2522  จึงได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่  1 – 6 ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ  ฉบับปี พ.ศ. 2520 ซึ่งจัดเป็นระบบ 6 , 3 , 3

ในปีงบประมาณ 2533  ได้รับเงินงบประมาณก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ แบบ สปช. 402  เป็นเงินทั้งสิ้น  1,531,000  บาท (หนึ่งล้านห้าแสนสามหมื่นหนึ่งพันบาทถ้วน)

 

ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2533 นายช่วง  เจริญครบุรี  ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรี (ป.ปลาย) และเกษียณอายุราชการในปีนี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนนายวีรพงษ์  ฉายสุริยะพันธุ์  รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนจนถึงวันที่ 3 เดือน   พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ทางราชการให้ผู้อำนวยการทั้ง  2  ท่านไปอบรมเตรียมเป็นผู้อำนวยการ  โรงเรียนของ สปช. จึงแต่งตั้ง นายสมพอ  ใคร่กระโทก  อาจารย์ 2 ระดับ 6 ครูสายผู้สอนในโรงเรียนรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน จนถึงวันที่ 30 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2533

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2533  สปช. ได้แต่งตั้ง นายสัมฤทธิ์  นคราวนากุล  ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนจระเข้หิน  มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรี (ป.ปลาย) และในปีงบประมาณนี้ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้น จำนวน 12 ห้องเรียน เป็นเงิน 3,416,400 บาท (สามล้านสี่แสนหนึ่งหมื่นหกพันสี่ร้อยบาทถ้วน) และงบประมาณ     ห้องส้วม 10 ห้อง เป็นเงิน 192,500 บาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นสองพันห้าร้อยบาทถ้วน)

วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ตามมติการประชุม กปจ. ครั้งที่  5/2534  เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2534  ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก โรงเรียนครบุรี (ป.ปลาย)  มาเป็น โรงเรียนครบุรีวิทยา

วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 นายสัมฤทธิ์  นคราวนากุล  ได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนจระเข้หิน

 

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537  นายวิธาน  ญาติกิ่ง  ได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา

วันที่ 13  มิถุนายน พ.ศ. 2547  ทางราชการได้มีคำสั่งให้ นายผดุง  เวชศักดิ์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา  รักษาตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา

วันที่ 15  ตุลาคม พ.ศ. 2547 นางอมรศรี  พรหมภูวัลย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านลำเพียก      ระดับ 8     ย้ายมาดำรงตำแหน่ง 
ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2547  นายสมัคร  สถิตนิลรัตน์  ผู้อำนวยการโรงเรียน             บ้านโคกกระชายโนนกุ่ม  มารักษาในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา

วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2547 ทางราชการได้มีคำสั่งให้ นายสมัคร  สถิตนิลรัตน์       ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา

วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2551 นายวิศิษฐ์  ราษฎภักดี     รองผู้อำนวยการโรงเรียน จระเข้หินสังฆกิจวิทยา ย้ายมาดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2552 นายสมัคร  สถิตนิลรัตน์  ผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา  ขอลาออกจากราชการ  ตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังส่วนของส่วนราชการ โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดปีงบประมาณ 2553 ตามหนังสือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 3 ที่ ศธ 04064/5343 ลงวันที่ 16 กันยายน 2552

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 นางอมรศรี  พรหมภูวัลย์ รองผู้อำนวยการโณงเรียนครบุรีวิทยา  ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา

วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553 นายเกษม  มารครบุรี  ผู้อำนวยการโรงเรียนจอมทองวิทยา  ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา 

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 นายนุศิษย์ พรชีวโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านเสิงสาง ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครบุรีวิทยา-ปัจจุบัน